วันพฤหัสบดีที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2554

โครงการพระราชดำริ คืออะไร ?

โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

ความเป็นมา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำริเพื่อจัดทำเป็นโครงการต่าง ๆ โดย ในระยะแรกๆ นั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะ คือ
1. โครงการที่มีลักษณะศึกษา ค้นคว้า ทดลองเป็นการส่วนพระองค์ โครงการดังกล่าวนี้เท่ากับเป็นการเตรียมพระองค์ในด้านข้อมูลและความรอบรู้ที่จะทรงนำไปประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาและเผยแพร่แก่เกษตรกร รวมทั้งเป็นการแสวงหาแนวทางการพัฒนาที่ถูกต้องและเหมาะสมกับสภาพสังคมไทยและสภาพแวดล้อมในแต่ละท้องถิ่นด้วย
2. โครงการที่มีลักษณะเริ่มเข้าไปแก้ไขปัญหาหลักของเกษตรกร เนื่องจากเกษตรกรประสบปัญหา และอุปสรรคในการทำเกษตรกรรม มากขึ้นทุกขณะซึ่งในขณะที่พระองค์ทรงมีโครงการทดลองและเรียนรู้ไปด้วยกัน จะทรงเริ่มก้าวเข้าสู่การดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาของเกษตรกรอย่างแท้จริง ระยะแรกโครงการยังจำกัดขอบเขตอยู่เฉพาะบริเวณรอบๆ ที่ประทับในส่วนภูมิภาค รูปแบบของการพัฒนาแก้ปัญหา คือ การพัฒนาแบบผสมผสาน (Integrated Development) หลังจากนั้นโครงการในลักษณะนี้ค่อยๆ ขยายขอบเขตออกไปสู่สังคมเกษตรกรในพื้นที่ที่กว้างขึ้น
โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมีอยู่มากมายหลายสาขา หลายประเภท ในระยะแรก มีชื่อเรียกแตกต่างกันไป ดังนี้คือ

1. โครงการตามพระราชประสงค์

หมายถึง โครงการซึ่งทรงศึกษาทดลองปฏิบัติเป็นส่วนพระองค์ ทรงศึกษาหารือกับผู้เชี่ยวชาญในวงงาน ทรงแสวงหาวิธีการทดลองปฏิบัติ ทรงพัฒนาและส่งเสริมแก้ไขดัดแปลงวิธีการเป็นระยะเวลาหนึ่ง เพื่อดูแลผลผลิตทั้งในพระราชฐานและนอกพระราชฐาน ซึ่งต้องทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการดำเนินการทดลองจนกว่าจะเกิดผลดี ต่อมาเมื่อทรงแน่พระทัยว่าโครงการนั้นๆ ได้ผลดี เป็นประโยชน์แก่ประชาชนอย่างแท้จริง จึงโปรดเกล้าฯให้รัฐบาลเข้ามารับงานต่อภายหลัง

2. โครงการหลวง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจาะจงดำเนินการพัฒนาและบำรุงรักษาต้นน้ำลำธารในบริเวณป่าเขาในภาคเหนือ เพื่อบรรเทาอุทกภัยในที่ลุ่มล่าง ด้วยเหตุผลที่พื้นที่เหล่านี้เป็นเขตแดนชาวไทยภูเขา จึงทรงมีโอกาสพัฒนาชาวเขาชาวดอยให้อยู่ดีกินดี ให้เลิกการปลูกฝิ่น เลิกการตัดไม้ทำลายป่า ทำไร่เลื่อยลอย และเลิกการค้าไม้เถื่อน ของเถื่อน อาวุธยุทโธปกรณ์นอกกฎหมาย ทรงพัฒนาช่วยเหลือให้ปลูกพืชหมุนเวียนที่มีคุณค่าสูง ขนส่งง่าย ปลูกข้าวไร่ และเลี้ยงสัตว์ไว้เพื่อบริโภค รวมคุณค่าผลผลิตแล้วให้ได้คุณค่าแทนการปลูกฝิ่น ทั้งๆที่งานของโครงการนี้กินเวลายาวนานกว่าจะเกิดผลได้ ต้องใช้เวลานานนับสิบปี การดำเนินงานจะยากลำบากสักเพียงใดมิได้ทรงท้อถอย การพัฒนาค่อยๆได้ผลดีขึ้นๆ ชาวเขาชาวดอยจึงมีความจงรักภักดี เรียกพระองค์ว่า“พ่อหลวง” และเรียกสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถว่า“แม่หลวง” โครงการของทั้งสองพระองค์จึงเรียกว่า “โครงการหลวง”

3. โครงการในพระบรมราชานุเคราะห์

หมายถึง โครงการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานข้อเสนอแนะและแนวทางพระราชดำริให้เอกชนไปดำเนินการ ด้วยกำลังเงิน กำลังปัญญา และกำลังแรงงาน พร้อมทั้งการติดตามผลงานให้ต่อเนื่องโดยภาคเอกชน เช่น โครงการพัฒนาหมู่บ้านสหกรณ์เนินดินแดง อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคิรีขันธ์ ซึ่งสโมสรโรตารีแห่งประเทศไทยเป็นผู้จัดและดำเนินงานตามพระราชดำริ โครงการพจนานุกรม โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เป็นต้น

4. โครงการตามพระราชดำริ

โครงการประเภทนี้เป็นโครงการที่ทรงวางแผนพัฒนา ทรงเสนอแนะให้รัฐบาลร่วมดำเนินการตามแนวพระราชดำริ โดยพระองค์เสด็จฯ ร่วมทรงงานกับหน่วยงานของรัฐบาล ซึ่งมีทั้งฝ่ายพลเรือน ตำรวจ ทหาร โครงการตามพระราชดำรินี้ในปัจจุบันเรียกว่า“โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” มีกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย ปัจจุบันมีลักษณะที่เป็นโครงการพัฒนาด้านต่างๆ ที่ดำเนินการเสร็จสิ้นภายในระยะเวลาสั้น และระยะเวลายาวที่มากกว่า๕ ปี ขณะเดียวกันก็มีลักษณะที่เป็นงานด้านวิชาการ เช่น โครงการเพื่อการศึกษาค้นคว้าทดลอง หรือโครงการที่มีลักษณะเป็นงานวิจัย เป็นต้น

การดำเนินงานในปัจจุบัน

ในปัจจุบันการดำเนินงานเกี่ยวกับโครงการต่าง ๆ เพื่อสนองพระราชดำริ นั้น ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน ได้ดำเนินการสนองพระราชดำริ โดยมี สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) เป็นหน่วยงานกลางในการประสาน สนับสนุน การดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พ.ศ. 2524 ซึ่งต่อมาได้แก้ไขปรับปรุงใหม่เป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พ.ศ. 2534
ทั้งนี้ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พ.ศ. 2534 ได้กำหนดความหมายของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ดังนี้ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หมายถึงโครงการ แผนงาน หรือกิจกรรมใดๆ ที่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ เป็นผู้ดำเนินงานเพื่อสนองพระราชดำริ
อย่างไรก็ตาม ในปัจุบันมีการน้อมนำแนวพระราชดำริไปดำเนินการในโครงการต่าง ๆ เพื่อขยายผลให้เกิดการปฏิบัติตามแนวพระราชดำริอย่างกว้างขวางขึ้น ซึ่งมีชื่อเรียกใน ลักษณะต่าง ๆ อาทิ โครงการตามแนวพระราชดำริ หรือโครงการเฉลิมพระเกียรติ เป็นต้น

ความหมายของโครงการ ในระบบบริหารจัดการข้อมูลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้วยระบบภูมิสารสนเทศ

การดำเนินการจัดทำระบบบริหารจัดการข้อมูลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้วยระบบภูมิสารสนเทศนี้ เพื่อใช้ในการบริหารจัดการโครงการ และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลโครงการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ มีพระราชดำริให้ดำเนินงานเพื่อช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยกำหนดความหมายของโครงการ ดังนี้
1. โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หมายถึง โครงการที่ดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พ.ศ. 2534 ดังนี้ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หมายถึงโครงการ แผนงาน หรือกิจกรรมใดๆ ที่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ เป็นผู้ดำเนินงานเพื่อสนองพระราชดำริ ทั้งนี้ เป็นโครงการที่สนองพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
2. โครงการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรของรัฐ ที่ดำเนินงานเพื่อนำแนวพระราชดำริไปดำเนินการขยายผล ซึ่งมีชื่อเรียกอื่น ๆ ตามแต่ละหน่วยงานกำหนด

อ้างอิง : http://www.rdp.in.th/about/

เศรษฐกิจพอเพียงกับทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ

เศรษฐกิจพอเพียงกับทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ



        เศรษฐกิจพอเพียงและแนวทางปฏิบัติของ ทฤษฎีใหม่ เป็นแนวทางในการพัฒนาที่นำไปสู่ความสามารถในการพึ่งตนเอง ในระดับต่าง ๆ อย่างเป็นขั้นตอน โดยลดความเสี่ยงเกี่ยวกับความผันแปรของธรรมชาติ หรือการเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยต่าง ๆ โดยอาศัยความพอประมาณและความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี มีความรู้ ความเพียรและความอดทน สติและปัญญา การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และความสามัคคี
     เศรษฐกิจพอเพียงมีความหมายกว้างกว่าทฤษฎีใหม่โดยที่เศรษฐกิจพอเพียงเป็นกรอบแนวคิดที่ชี้บอกหลักการและแนวทางปฏิบัติของทฤษฎีใหม่ในขณะที่ แนวพระราชดำริเกี่ยวกับทฤษฎีใหม่หรือเกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาภาคเกษตรอย่างเป็นขั้นตอนนั้น เป็นตัวอย่างการใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงในทางปฏิบัติ ที่เป็นรูปธรรมเฉพาะในพื้นที่ที่เหมาะสม
     ทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ อาจเปรียบเทียบกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งมีอยู่ 2 แบบ คือ แบบพื้นฐานกับแบบก้าวหน้า ได้ดั้งนี้
     ความพอเพียงในระดับบุคคลและครอบครัวโดยเฉพาะเกษตรกร เป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบพื้นฐาน เทียบได้กับทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 1 ที่มุ่งแก้ปัญหาของเกษตรกรที่อยู่ห่างไกลแหล่งน้ำ ต้องพึ่งน้ำฝนและประสบความเสี่ยงจากการที่น้ำไม่พอเพียง แม้กระทั่งสำหรับการปลูกข้าวเพื่อบริโภค และมีข้อสมมติว่า มีที่ดินพอเพียงในการขุดบ่อเพื่อแก้ปัญหาในเรื่องดังกล่าวจากการแก้ปัญหาความเสี่ยงเรื่องน้ำ จะทำให้เกษตรกรสามารถมีข้าวเพื่อการบริโภคยังชีพในระดับหนึ่งได้ และใช้ที่ดินส่วนอื่น ๆ สนองความต้องการพื้นฐานของครอบครัว รวมทั้งขายในส่วนที่เหลือเพื่อมีรายได้ที่จะใช้เป็นค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ไม่สามารถผลิตเองได้ ทั้งหมดนี้เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันในตัวให้เกิดขึ้นในระดับครอบครัว
     อย่างไรก็ตาม แม้กระทั่ง ในทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 1 ก็จำเป็นที่เกษตรกรจะต้องได้รับความช่วยเหลือจากชุมชนราชการ มูลนิธิ และภาคเอกชน ตามความเหมาะสม
    ความพอเพียงในระดับชุมชนและระดับองค์กรเป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า ซึ่งครอบคลุมทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 2 เป็นเรื่องของการสนับสนุนให้เกษตรกรรวมพลังกันในรูปกลุ่มหรือสหกรณ์ หรือการที่ธุรกิจต่าง ๆ รวมตัวกันในลักษณะเครือข่ายวิสาหกิจ
     กล่าวคือ เมื่อสมาชิกในแต่ละครอบครัวหรือองค์กรต่าง ๆ มีความพอเพียงขั้นพื้นฐานเป็นเบื้องต้นแล้วก็จะรวมกลุ่มกันเพื่อร่วมมือกันสร้างประโยชน์ให้แก่กลุ่มและส่วนรวมบนพื้นฐานของการไม่เบียดเบียนกัน การแบ่งปันช่วยเหลือซึ่งกันและกันตามกำลังและความสามารถของตนซึ่งจะสามารถทำให้ ชุมชนโดยรวมหรือเครือข่ายวิสาหกิจนั้น ๆ เกิดความพอเพียงในวิถีปฏิบัติอย่างแท้จริง
     ความพอเพียงในระดับประเทศ เป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า ซึ่งครอบคลุมทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 3 ซึ่งส่งเสริมให้ชุมชนหรือเครือข่ายวิสาหกิจสร้างความร่วมมือกับองค์กรอื่น ๆ ในประเทศ เช่น บริษัทขนาดใหญ่ ธนาคาร สถาบันวิจัย เป็นต้น
     การสร้างเครือข่ายความร่วมมือในลักษณะเช่นนี้จะเป็นประโยชน์ในการสืบทอดภูมิปัญญา แลกเปลี่ยนความรู้ เทคโนโลยี และบทเรียนจากการพัฒนา หรือร่วมมือกันพัฒนา ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้ประเทศอันเป็นสังคมใหญ่อันประกอบด้วยชุมชน องค์กร และธุรกิจต่าง ๆ ที่ดำเนินชีวิตอย่างพอเพียงกลายเป็นเครือข่ายชุมชนพอเพียงที่เชื่อมโยงกันด้วยหลัก ไม่เบียดเบียน แบ่งปัน และช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ในที่สุด


เขื่อนดิน

เขื่อนดิน




เขื่อนดินเป็นแนวทางการพัฒนาแหล่งน้ำผิวดินตามแนวพระราชดำริ ตัวเขื่อนนิยมก่อสร้างด้วยการถมดินและบดอัดจนแน่น สามารถส่งน้ำไปตามท่อส่งน้ำได้ เพื่อใช้ในการเกษตรและการอุปโภคบริโภค อีกทั้งยังใช้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำขนาดเล็กอย่างปลาและกุ้งน้ำจืดได้ นอกจากนี้เขื่อนดินยังเป็นปราการที่ไม่เพียงบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำหากแต่ยังป้องกันน้ำท่วมได้อีกด้วย ส่วนความจุของปริมาณขึ้นอยู่กับความสูงของเขื่อน

                เขื่อนดินเป็นแนวทางการพัฒนาแหล่งน้ำผิวดินตามแนวพระราชดำริ ตัวเขื่อนนิยมก่อสร้างด้วยการถมดินและบดอัดจนแน่น สามารถส่งน้ำไปตามท่อส่งน้ำได้ เพื่อใช้ในการเกษตรและการอุปโภคบริโภค อีกทั้งยังใช้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำขนาดเล็กอย่างปลาและกุ้งน้ำจืดได้ นอกจากนี้เขื่อนดินยังเป็นปราการที่ไม่เพียงบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำหากแต่ยังป้องกันน้ำท่วมได้อีกด้วย ส่วนความจุของปริมาณขึ้นอยู่กับความสูงของเขื่อน

โครงการถนนคร่อมคลองประปา


                เป็นโครงการอเนกประสงค์อันเนื่องมาจากพระราชดำริเพื่อให้ศึกษาสภาพคลองประปาในอนาคต เพราะหากชุมชนมีความหนาแน่น น้ำในคลองประปาคงสกปรก หรือขนาดของคลองอาจเล็กเกินไป สมควรศึกษาว่าตามแนวใต้คลองประปาจะสร้างเป็นท่อลำเลียงน้ำขนาดใหญ่ได้หรือไม่ หรืออาจย้ายโรงกรองน้ำสามเสนไปไว้ที่โรงสูบน้ำสำแล เพื่อผลิดน้ำประปาส่งเข้าระบบท่อลอดใต้คลองประปา ส่วนตามแนวคลองประปาหากทำเป็นถนนหรือระบบขนส่งมวลชน ๑-๒ ชั้น ผ่านตัวเมืองชั้นในออกไปสู่ชานเมืองได้ก็จะเป็นประโยชน์มาก เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๖ กระทรวงคมนาคม มีนโยบายให้ขยายถนนเลียบคลองประปา ช่วงหน้าโรงกรองน้ำบางเขน-ถนนเลียบคลองรังสิต เป็น ๔ ช่องจราจร เพื่อเชื่อมต่อกับถนนประชาชื่น และใน พ.ศ. ๒๕๓๘ ในการประชุมโครงการแก้ไขปัญหาจราจรตามแนวพระราชดำริ มีมติระงับโครงการถนนเลียบคลองประปาไว้ก่อน และให้กรมทางหลวงทำการศึกษา เรื่องรูปแบบโครงการถนนคร่อมคลองประปา จากนั้นในเดือนมีนาคม ๒๕๓๙ การประปานครหลวงได้สรุปความเป็นไปได้และผลกระทบของการปิดคลองประปาว่า สามารถทำได้ถ้าจำเป็น แต่จะทำให้คุณภาพของน้ำดิบด้อยลงกว่าปัจจุบันและมีผลทำให้ต้นทุนการผลิตน้ำประปาสูงขึ้น ซึ่งในระหว่างการออกแบบนั้น ได้ขอให้กรมทางหลวงประสานงานกับการประปานครหลวงด้วย
ช่วงคลองบางหลวง - ทางหลวงหมายเลข 347 


        ภาพปัจจุบัน
ภาพอนาคต
             ต่อมาเมื่อ ๑๖ เมษายน ๒๕๓๙ ในพระราชพิธีวางศิลาฤกษ์โครงการทางคู่ขนานลอยฟ้าถนนบรมราชชนนี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริเพิ่มเติมว่า ถนนคร่อมคลองประปาควรเป็นลักษณะโครงสร้างคร่อมคลองประปา โดยทั้งหมดเป็นผิวจราจร ไม่จำเป็นต้องมีช่องแสง เพราะน้ำไหล จึงไม่เน่า มีหน้าต่างด้านข้างเปิดปิดได้ ภายในมีช่องทางให้เดินเข้าไปดูแลรักษาคลองประปาอาจทำเป็นลักษณะถนนคร่อมคลอง ๒ ชั้น ช่วงจากโรงกรองน้ำสามเสนถึงบางซื่อมีทางด่วนอยู่ข้าง ๆ ต้องปิดให้คลองประปาเป็นอุโมงค์ส่งน้ำเหมือนทุกเมืองในโลก และไม่ควรมีการเวนคืนที่ดินในเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๐ กรมทางหลวงได้ดำเนินการออกแบบโครงสร้างคร่อมปิดคลองประปา ที่มีความกว้างของคลอง ๓๔ เมตร โดยมีสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) เป็นที่ปรึกษา เดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระกระแสรับสั่งว่า เศรษฐกิจของประเทศอยู่ระหว่างชะลอตัว เห็นควรให้ระงับโครงการไว้ก่อน กระทรวงคมนาคมจึงสั่งให้ชะลอโครงการนี้โดยให้กรมทางหลวงดำเนินการศึกษาโครงการต่อไป เพื่อจะได้ทราบถึงปัญหาที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องเพื่อนำกราบบังคมทูล


โครงการพระราชดำริ “กังหันน้ำชัยพัฒนา”


โครงการพระราชดำริ กังหันน้ำชัยพัฒนา


                กังหันบำบัดน้ำเสีย สิทธิบัตรในพระปรมาภิไธยเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำแก่ปวงชน ด้วยการหมุนปั่นเพื่อเติมอากาศให้น้ำเสียกลายเป็นน้ำดี สามารถประยุกต์ใช้บำบัดน้ำเสียจากการอุปโภคของประชาชน น้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม รวมทั้งเพิ่มออกซิเจนให้กับบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทางการเกษตร

                เชื่อว่าคนไทยคงคุ้นกับภาพของกังหันน้ำที่มีโครงเป็นรูปเหลี่ยมบนทุ่นลอย และมีซองตักวิดน้ำซึ่งเจาะเป็นรูพรุน เราจึงเห็นสายน้ำพรั่งพรูจากซองวิดน้ำขณะที่กังหันหมุนวนเวียนซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทุกครั้งที่น้ำถูกตักขึ้นมาออกซิเจนในอากาศจะละลายในน้ำได้ดีขึ้น เพราะพื้นที่ในการทำปฏิกิริยามีมากกว่าเดิม ทำให้น้ำเสียซึ่งเป็นปัญหาของแหล่งน้ำในหลายพื้นที่มีคุณภาพที่ดีขึ้น นอกจากนี้ ขณะที่น้ำตกลงในผิวน้ำจะทำให้เกิดฟองอากาศจมลงไปใต้ผิวน้ำ จึงเป็นการถ่ายเทออกซิเจนให้กับน้ำอีกต่อหนึ่ง
                กังหันน้ำชัยพัฒนาคือสิ่งประดิษฐ์ซึ่งเกิดจากพระปรีชาสามารถและ พระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อการแก้มลพิษทางน้ำซึ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นในหลายพื้นที่ ซึ่งสร้างเครื่องต้นแบบได้ครั้งแรกในปี ๒๕๓๒ การประยุกต์ใช้งานสามารถใช้ประโยชน์เพื่อเติมอากาศให้กับน้ำหรือใช้เพื่อขับเคลื่อนน้ำได้ โดยการใช้งานทั้งในรูปแบบที่ติดตั้งอยู่กับที่และใช้ในรูปแบบเคลื่อนที่เพื่อเติมอากาศให้กับแหล่งน้ำขนาดใหญ่ หรือตามคลองส่งน้ำที่มีความยาวมาก ซึ่งดัดแปลงได้ด้วยการใช้พลังงานจากเครื่องยนต์ของกังหัน
                กังหันน้ำชัยพัฒนา ได้รับสิทธิบัตรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อวันที่ 2 ก.พ.2536 หลังจากเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนาซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่สนองพระราชดำริในการพัฒนากังหันน้ำได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ยื่นขอรับสิทธิบัตรเมื่อวันที่ 2 มิ.ย.2535 จึงนับว่าเป็นสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของไทย และครั้งแรกของโลก และถือว่าวันที่ 2 ก.พ.ของทุกปีเป็น วันนักประดิษฐ์นับแต่นั้นเป็นต้นมา
                นอกจากนี้ กังหันชัยพัฒนายังได้รับรางวัลเหรียญทองจาก The Belgian Chamber of Inventor องค์กรทางด้านนวัตกรรมที่เก่าแก่ของเบลเยียม ภายในงาน “Brussels Eureka 2000” ซึ่งเป็นงานแสดงสิ่งประดิษฐ์ใหม่ของโลกวิทยาศาสตร์ ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม

โครงการแก้มลิง

 "โครงการแก้มลิง" เป็นส่วนหนึ่งของโครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลตามแนวพระราชดำริ โดยประกอบด้วยโครงการขุดลอกคลองระบายน้ำและกำจัดวัชพืช โครงการปรับปรุงและก่อสร้างสถานีสูบน้ำและประตูระบายน้ำ ตามที่ได้เกิดสภาวะน้ำท่วมหนักในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๘ อันสืบเนื่องมาจากฝนตกหนักในลุ่มน้ำตอนบน ทำให้ปริมาณน้ำจำนวนมากไหลหลากท่วมพื้นที่อย่างรุนแรงในลุ่มแม่น้ำยมและน่าน เสริมกับปริมาณน้ำล้นอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ไปหลากท่วมพื้นที่ทางด้านท้ายน้ำอย่างหนักและส่งผลกระทบต่อสภาวะน้ำท่วมในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ซึ่งรวมถึงเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นเวลานานกว่า ๒ เดือน คืนวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๓๘ 
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าหน้าที่ดูแลปัญหาน้ำท่วมเข้าเฝ้าฯ เพื่อรับพระราชทานแนวพระราชดำริการป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่บริเวณกรุงเทพฯ และปริมณฑลโดยทรงเปรียบเทียบการกินอาหารของลิง หลังจากที่ลิงเคี้ยวกล้วยแล้วจะยังไม่กลืน แต่จะเก็บไว้ภายในแก้มทั้งสองข้าง แล้วค่อย ๆ ดุนกล้วยมากินในภายหลัง เช่นเดียวกับกรณีการผันน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยารวมทั้งน้ำที่ขึ้นมาตามซอยต่าง ๆ เมื่อน้ำทะเลหนุน ให้ไปเก็บไว้ที่บึงใหญ่ที่อยู่ใกล้กับพื้นที่ชายทะเล และมีประตูน้ำขนาดใหญ่สำหรับปิดกั้นน้ำบริเวณแก้มลิง สำหรับฝั่งตะวันตกจะอยู่ที่คลองชายทะเล ด้านฝั่งตะวันออกบริเวณแก้มลิงจะอยู่ที่คลองสรรพสามิต เมื่อเวลาน้ำทะเลลดลงให้เปิดประตูระบายน้ำออกไป บึงจะสามารถรับน้ำชุดใหม่ต่อไป
สำหรับแนวทางที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ คือ
      ประการแรก    สร้างคันกั้นน้ำโดยปรับปรุงแนวถนนเดิม

      ประการที่ ๒   จัดให้มีพื้นที่สีเขียว (Green Belt) ตามพระราชดำริเพื่อกันการขยายตัวของเมือง และเพื่อแปรสภาพให้เป็นทางระบายน้ำ เมื่อมีน้ำหลาก
      ประการที่ ๓    ดำเนินการขุดลอกคลอง ขยายคลองที่มีอยู่เดิมและขุดใหม่นอกแนวคันกั้นน้ำ
      ประการที่ ๔    สร้างสถานที่เก็บน้ำตามจุดต่าง ๆ 
      ประการที่ ๕    ขยายช่องทางรับน้ำที่ผ่านทางรถไฟและทางหลวง กรมทางหลวงได้ดำเนินการตาม "โครงการพระราชดำริแก้มลิง" โดยใช้แนวถนนสุขุมวิทเป็นคันกั้นน้ำทะเลที่หนุนท่วมขึ้นมาบนชายฝั่งทะเล และใช้พื้นที่ด้านในของถนนสุขุมวิทเป็นพื้นที่พักน้ำที่ไหลมาจากตอนบน พร้อมทั้งประสานงานกับกรมชลประทานและกรมโยธาธิการดำเนินการก่อสร้างสถานีสูบน้ำตามคลองต่าง ๆ เลียบถนนสุขุมวิทตามแนวคลองชายทะเล โดยมีประสิทธิภาพในการสูบน้ำตามคลองต่าง ๆ คือ คลองตำหรุ คลองบางปลาร้า คลองบางปลา คลองเจริญราษฎร์ คลองด่าน คลองชลหารพิจิตร รวมปริมาณน้ำที่สามารถสูบออกทะเล ๒๖๗ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้น้ำตามคลองต่าง ๆ ของพื้นที่ด้านบนสามารถไหลลงสู่ด้านล่างได้สะดวกรวดเร็วขึ้น
การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลตามแนวพระราชดำริ  "แก้มลิง" มีลักษณะและวิธีการดังนี้
      ๑. ดำเนินการระบายน้ำออกจากพื้นที่ตอนบน ให้ไหลลงคลองพักน้ำขนาดใหญ่ที่บริเวณชายทะเล
      ๒. เมื่อระดับน้ำทะเลลดต่ำกว่าระดับน้ำในคลอง ก็ทำการระบายน้ำจากคลองดังกล่าว โดยใช้หลักทฤษฎีแรงโน้มถ่วงของโลก (Gravity Flow) ตามธรรมชาติ
      ๓. สูบน้ำออกจากคลองที่ทำหน้าที่ "แก้มลิง" นี้ เพื่อทำให้น้ำตอนบนค่อย ๆ ไหลมาเองตลอดเวลา ส่งผลให้ปริมาณน้ำท่วมพื้นที่ลดน้อยลง
      ๔. เมื่อระดับน้ำทะเลสูงกว่าระดับน้ำในลำคลอง ให้ทำการปิดประตูระบายน้ำ โดยยึดหลักน้ำไหลลงทางเดียว (One Way Flow)
หลักการ ๓ ประการ ที่จะทำให้โครงการแก้งลิงมีประสิทธิภาพบรรลุผลสำเร็จตามแนวพระราชดำริ คือ การพิจารณา
     ๑. สถานที่ที่จะทำหน้าที่เป็นบ่อพักและวิธีการชักนำน้ำท่วมไหลเข้าสู่บ่อพักน้ำ
     ๒. เส้นทางน้ำไหลที่สะดวกต่อการระบายน้ำเข้าสู่แหล่งที่ทำหน้าที่บ่อพักน้ำ
     ๓. การระบายน้ำออกจากบ่อพักน้ำต้องเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
     "โครงการแก้มลิงฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา" ใช้คลองชายทะเลตั้งอยู่ริมทะเลด้านจังหวัดสมุทรปราการทำหน้าที่เป็นบ่อพักน้ำหรือบ่อรับน้ำ ส่วน "โครงการแก้มลิง ในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา" ทำหน้าที่รับน้ำในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อระบายออกทะเลด้านจังหวัดสมุทรสาคร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริเพื่อให้การระบายน้ำท่วมออกทะเลเร็วขึ้นด้วยวิธีการต่าง ๆ อาทิ โครงการแก้มลิง "แม่น้ำท่าจีนตอนล่าง" ซึ่งใช้หลักการในการควบคุมน้ำในแม่น้ำท่าจีน คือ เปิดระบายน้ำจำนวนมากลงสู่อ่าวไทยเมื่อระดับน้ำทะเลต่ำ  
โครงการแก้มลิงแม่น้ำท่าจีนตอนล่างจะมีประสิทธิภาพสมบูรณ์ต้องดำเนินการครบระบบ ๓ โครงการด้วยกัน คือ
     ๑. โครงการแก้มลิง "แม่น้ำท่าจีนตอนล่าง
     ๒. โครงการแก้มลิง "คลองมหาชัย-คลองสนามชัย"
     ๓. โครงการแก้มลิง "คลองสุนัขหอน"

         โครงการแก้มลิงนับเป็นนิมิตหมายที่จะนำพาชาวไทยให้รอดพ้นจากทุกข์ภัย ที่นำความเดือนร้อนแสนลำเค็ญมาสู่ชีวิตที่อบอุ่นปลอดภัย ซึ่งแนวพระราชดำริอันเป็นทฤษฎีเกี่ยวกับการบริหารจัดการด้านน้ำท่วมนี้ มีพระราชดำริเพิ่มเติมว่า "...ได้ดำเนินการในแนวทางที่ถูกต้องแล้ว ขอให้รีบเร่งหาวิธีปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพต่อไป เพราะโครงการแก้มลิงในอนาคตจะสามารถช่วยพื้นที่ได้หลายพื้นที่..."

อ้างอิง : http://202.28.94.55/webcontest49/web/g46/project/kamling.htm